การแข่งขันเทนนิสเกือบทุกรายการหลักบนโลกใบนี้ ใช้หลักเกณฑ์ในการคัดผู้เข้าแข่งขันจากอันดับโลกประกอบ ยิ่งเป็นรายการเมนอีเวนต์ที่อยู่ระดับสูง มันยิ่งจำกัดจำนวนและโอกาสของนักเทนนิสให้มีเฉพาะคนที่เหมาะสมเท่านั้น แต่เพื่อให้เกิดการเปิดโอกาสสำหรับผู้เข้าแข่งขันที่ยังอยู่ไกลห่างจากอันดับที่ดีพอ รวมถึงเพื่อให้โอกาสแก่นักเทนนิสบางคนที่มีเหตุผลอันสมควร ในวงการเทนนิสจึงได้คิดค้นสิ่งที่เรียกว่า “ไวลด์การ์ด” ขึ้นมา

ระบบไวลด์ การ์ดในวงการเทนนิสถูกนำมาใช้โดยสมาพันธ์เทนนิสนานาชาติหรือไอทีเอฟ แต่มันไม่ได้มีกฏตายตัว ขึ้นอยู่กับว่าทางสมาพันธ์เห็นชอบให้ส่งบัตรเชิญใครเข้าร่วม ซึ่งจากสถิติเกี่ยวการได้รับไวลด์การ์ดของนักกีฬาเทนนิสก็จะได้แก่ นักกีฬาของประเทศที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน หรือไม่ก็นักกีฬามีชื่อเสียงที่อันดับไม่ถึงเนื่องจากอาจจะมีอาการบาดเจ็บจนอันดับโลกตกหรือลงแข่งขันไม่ครบ หรือไม่ก็เป็นระดับท็อปของรุ่นเยาวชนที่อันดับโลกยังไม่ถึงก็ได้

ตัวอย่างเช่นสมาคมเทนนิสของอเมริกาที่กำหนดไวลด์การ์ดให้นักเทนนิสอเมริกันลงเล่นในรายการที่จัดในอเมริกา ทั้งยูเอส โอเพ่นและเซอร์กิตต่าง ๆ ว่าจะต้องมีสถิติในระดับมหาวิทยาลัย ระดับมือสมัครเล่นหรือไม่ก็เป็นนักกีฬาอาชีพที่อันดับโลกถึงเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ซึ่งเรื่องนี้พวกเขาได้สร้างมาตรฐานไวลด์การ์ดไว้ทั้งรุ่นเยาวชนและรุ่นมืออาชีพเพื่อพัฒนานักกีฬา และมันก็คล้ายกับที่อังกฤษและออสเตรเลียใช้ในการแข่งขันที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพ แต่ในแง่มุมหนึ่งเกี่ยวกับไวลด์การ์ดก็ถูกมองไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะนิวยอร์กไทม์เคยตีพิมพ์บทความกระแซะเรื่องบัตรอภิสิทธิ์นี้ไว้ว่ามันเป็นการเกาหลังให้กันและกันหรือไม่ก็ความล้าหลังของลัทธิชนชั้นสูง

ด้วยความที่นักเทนนิส ไวลด์การ์ดหลายคนส่วนใหญ่เป็นนักกีฬามืออันดับโลกค่อนข้างต่ำ ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จยาก อาจจะสร้างความฮือฮาได้แต่ก็ยากที่จะชนะเลิศการแข่งขัน ถึงอย่างนั้นก็มีตำนานในเรื่องนี้ เช่น โกรัน อิวานิเซวิช ชนะชายเดี่ยววิมเบิลดัน 2001 ด้วยการใช้สิทธิ์ไวลด์การ์ด เพราะตอนนั้นเขาเพิ่งหายจากการเจ็บไหล่ทำให้อันดับโลกหล่นไปที่ 125 ไม่พอเข้ารอบแต่แรก อีกอย่างเจ้าตัวเข้าถึงรอบชิงมาถึง 3 ครั้งก่อนหน้า

หรือในปี 2009 คิม ไคลจ์เตอร์เพิ่งกลับจากการประกาศแขวนแร็คเก็ตในปี 2007 เพื่อทำหน้าที่ภรรยาและแม่ ตอนกลับมาเริ่มเล่นเทนนิสใหม่ เธอไม่มีอันดับโลกเพราะเพิ่งลงแข่งแค่ 2 รายการยังไม่สามารถติดอันดับโลกได้ ฝ่ายจัดยูเอส โอเพ่นมองว่าในฐานะที่ไคลจ์เตอร์เคยเป็นถึงมือหนึ่งของโลกก็น่าจะให้สิทธิ์พิเศษ ปรากฏว่าเธอชนะศึกยูเอส โอเพ่นปีนั้น

มาเรีย ซาราโปว่าก็เป็นอีกคนที่คว้าแชมป์ยูเอส โอเพ่นได้ในปี 2017 จากการใช้สิทธิ์ไวลด์การ์ด หลังจากที่ไม่มีอันดับโลกเพราะโดนโทษแบนยาว 15 เดือนจากการตรวจโด๊ป

หากมองว่าไวลด์ การ์ดเป็นสิทธิพิเศษสำหรับนักกีฬา มันก็ไม่ใช่การใช้งานอะไรที่ผิดของสมาพันธ์เทนนิสหรือฝ่ายจัดการแข่งขัน เพราะสิทธิ์ไวลด์การ์ดในแต่ละปีหรือแต่ละทัวร์นาเมนต์ พวกเขาสามารถใช้มันประชาสัมพันธ์การแข่งขันได้ แถมนักกีฬายังได้ประโยชน์ที่เหมือนถูกหวยนี้ด้วย

Category : สาระกีฬาเทนนิส

Tag : ไวลด์ การ์ด, กีฬาเทนนิส, บัตรเชิญ

Picture Credit : https://www.longroom.com/discussion/632407/maria-sharapova-granted-wildcard-entry-into-main-draw-of-us-open-with-former-world-no-1-set-for-first-major-tournament-since-drugs-ban